Last updated: 8 ต.ค. 2564 | 2275 จำนวนผู้เข้าชม |
สารสกัดจากกัญชารักษามะเร็งได้หรือไม่?
การศึกษาเกือบทั้งหมดยังอยู่ในระดับห้องปฏิบัติการและสัตว์ทดลอง โดยภาพรวมออกมาในเชิงบวก กล่าวคือ ทั้งสาร THC และ CBD สามารถทำลายเซลล์มะเร็งหลายชนิดในห้องปฏิบัติการได้โดยไม่กระทบต่อเซลล์ปกติ การทดลองในสัตว์พบว่า สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ลดการแพร่กระจาย รวมทั้งมีหลักฐานในการลดอุบัติการณ์ (อัตราการเกิดใหม่) ของมะเร็งตับและมะเร็งลำไส้ใหญ่ในหนู และเชื่อว่าอาจใช้ในการรักษามะเร็งชนิดดังกล่าวได้ สำหรับการศึกษาวิจัยด้านการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ระดับสัตว์ทดลอง ยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาที่ให้ผลที่ค้านกันอยู่ด้วย กล่าวคือ ในกรณีที่ผู้วิจัยฝังเซลล์มะเร็งในหนูที่ถูกทำให้ไม่มีภูมิต้านทาน (Immunodeficiency mice) พบว่าหนูที่ได้รับสาร THC จะลดขนาดมะเร็งได้ถึงร้อยละ 60 เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ใช้ แต่เมื่อทดลองให้สาร THC ในหนูที่มีภูมิต้านทานปกติ (Immunocompetent murine) กลับเกิดผลตรงกันข้ามคือ ก้อนมะเร็งกลับมีขนาดที่โตขึ้น ดังนั้น ประสิทธิผลของการรักษาโรคมะเร็งด้วยสารสกัดกัญชา จึงมีความจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยในรายละเอียดแต่ละประเด็นต่อไป
การสูบกัญชารักษามะเร็งได้หรือไม่?
ยังไม่มีการศึกษาวิจัยถึงผลของการสูบกัญชากับการรักษาโรคมะเร็ง แต่มีบางการศึกษายอมรับว่าการสูบกัญชาอาจช่วยลดอาการปวด (Neuropathic pain) จากมะเร็งได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ได้ยาเคมีบำบัดบางกลุ่ม (Platinum-based chemotherapy และ Taxanes) แต่กลับไม่มีข้อมูลสนับสนุนว่าการสูบกัญชาสามารถช่วยลดอาการคลื่นไส้ อาเจียน จากยาเคมีบำบัด หรือเพิ่มความอยากอาหารในผู้ป่วยมะเร็งได้เลย ส่วนในเรื่องการลดความเครียด หรือการควบคุมอารมณ์นั้น พบว่าการสูบกัญชามักทำให้อารมณ์ถูกกระตุ้นให้คึกคัก สนุกสนานมากกว่าจะทำให้อารมณ์สงบลง
งานวิจัยเรื่องการใช้สารกัญชากับการรักษามะเร็ง
ต้านการเติบโตของเซลล์มะเร็ง
ในปี 2518 มีนักวิจัยกลุ่มแรก (Antineoplastic activity of cannabinoids., 1975. Munson AE, Harris LS, Friedman MA, Dewey WL, Carchman RA.) รายงานว่าสารสกัดจากกัญชาอาจยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็งปอดและยับยั้งการเติบโตของเนื้องอกมะเร็งบางอย่างในหนูทดลองได้ หลังจากนั้น เมื่อมีการวิจัยเพิ่มขึ้น พบว่าสารสกัดจากกัญชาสามารถต้านการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งชนิดต่างๆ ได้จริง โดยการยับยั้งกระบวนการสร้างเส้นเลือดของก้อนมะเร็ง (Angiogenesis) และลดการกระจายตัวของเซลล์มะเร็งไปยังส่วนอื่นๆ (Metastasis) ในโรคมะเร็งหลายชนิด ด้วยการกระตุ้นให้เกิดการสร้างโปรแกรมการตายของเซลล์มะเร็ง (Program cell death) ผ่านกระบวนการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ในปัจจุบันสารกลุ่มนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาทางคลินิก โดยพบว่าการให้สาร Cannabinoids ร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด Temozolomide สามารถช่วยลดการเติบโตของเนื้องอกสมอง (Glioma xenograft) ได้ และมีการรายงานในลักษณะคล้ายกันจากอีกหลายงานวิจัยที่พบว่าการให้สารสังเคราะห์ในกลุ่ม Cannabinoids (เช่น HU-210) สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการต้านมะเร็งของยา Paclitaxel และ ยา 5-Fluorouracil ได้
ลดอาการคลื่นไส้ อาเจียนจากการได้รับเคมีบำบัด
สาร Nabilone และ Dronabinol เป็นสารสังเคราะห์ที่เป็นอนุพันธ์ของสาร THC มีผลการวิจัยทางคลินิกยืนยันว่า Nabilone มีประสิทธิภาพในการลดอาการคลื่นไส้ อาเจียนในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดได้ดี และได้รับการอนุมัติให้ใช้ในประเทศแคนาดา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 เป็นต้นมา ส่วนสาร Dronabinol มีประสิทธิภาพลดอาการคลื่นไส้ อาเจียนได้ดี และได้รับการอนุมัติให้จำหน่ายทั้งในประเทศอเมริกา (ปี พ.ศ. 2528) และในแคนาดา (ปี พ.ศ. 2538)
เพิ่มความอยากอาหารในผู้ป่วยมะเร็งและเอดส์
สาร THC ช่วยเพิ่มความอยากอาหารให้ผู้ป่วยมะเร็งและเอดส์ เมื่อมีการทดลองใช้ทางคลินิกเป็นเวลา 4-6 สัปดาห์ และได้รับการอนุมัติให้ใช้สาร Dronabinol ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของสาร THC เพื่อเพิ่มความอยากอาหารได้ในประเทศแคนาดาสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้
ลดอาการปวด
สารในกลุ่มแคนนาบินอยด์ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะ THC ช่วยลดอาการปวดแบบเฉียบพลัน และแบบเรื้อรังได้ (Acute และ Chronic pain) ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถนอนหลับได้เพิ่มขึ้น ยาในรูปแบบสเปรย์พ่นในปาก (Oromucosal spray, Nabiximols) โดยใช้ส่วนผสมร่วมระหว่าง THC และ CBD ช่วยลดอาการปวดข้อ (Rheumatoid arthritis) ได้ แต่สำหรับอาการปวดเรื้อรังในผู้ป่วยมะเร็งยังไม่มีข้อสรุปทางคลินิกที่ชัดเจน